.jpg)
การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต และบริษัทได้รับประกาศนียบัตรรับรองฐานะเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต จากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตในปี 2561 ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับที่ได้กำหนดไว้ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ตลอดจนเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม บริษัทมีนโยบายที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยได้กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption Policy) เป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีวัตถุประสงค์ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ได้รับทราบ เข้าใจ และยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ดังนี้
นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption Policy)
บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม รับผิดชอบและระมัดระวังภายใต้กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง บริษัทจึงเห็นสมควรให้จัดทำ “นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยมีวัตถุประสงค์ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ได้รับทราบ เข้าใจ และยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
-
นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
“ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ การรับสิ่งของ ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง เงินเรี่ยไร เงินบริจาค และผลประโยชน์อื่นใดให้แก่ตนเองจากบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัท” ให้ครอบคลุมถึงพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2. คำนิยาม
2.1 “คอร์รัปชั่น” หมายถึง การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควร มิชอบ เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ อาทิ การให้/รับ สินบนและสิ่งจูงใจ ของขวัญ การบริจาค การให้เงินสนับสนุน การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมือง และ/หรือการให้/รับผลประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบธรรม เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
2.2 “การให้สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด” หมายถึง การให้สิทธิพิเศษในรูปของเงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นสินน้ำใจ เป็นรางวัล หรือเพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี
2.3 “การให้สินบน” หมายถึง การเสนอให้หรือรับสิ่งของ ของขวัญ รางวัล หรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่ตนเอง หรือจากบุคคลซึ่งต้องการโน้มน้าวให้กระทำการบางอย่างที่ไม่สุจริต ผิดกฎหมาย หรือผิดจรรยาบรรณของบริษัท
3. หน้าที่และความรับผิดชอบ
3.1 คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัตินโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ตลอดจนสนับสนุนให้มีระบบการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ
3.2 คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่กำกับดูแลระบบควบคุมภายใน รวมถึงกระบวนการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
3.3 สำนักตรวจสอบภายในมีหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแผนการตรวจสอบภายในที่กำหนดไว้ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
3.4 ผู้บริหารของบริษัทมีหน้าที่สื่อสาร ตลอดจนดำเนินการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับทราบ เข้าใจ และปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้
3.5 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้
4. ขั้นตอนและการปฎิบัติ
5. หลักปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
5.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการต่อต้านการให้/รับ สินบนและสิ่งจูงใจ ของขวัญ การบริจาค การให้เงินสนับสนุน การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมือง และ/หรือการให้/รับผลประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบธรรม เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้
5.2 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องไม่ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ที่ได้รับเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก และ/หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกระทำการใดอันก่อให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ต่อบริษัท โดยจะต้องเห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท และป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)
5.3 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน จะต้องยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดคนใดฝ่าฝืน ถือเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง และจะได้รับโทษตามข้อบังคับหรือระเบียบของบริษัทที่ได้กำหนดไว้ และ/หรือจะมีประกาศต่อไปในภายหน้า
5.4 บริษัทกำหนดให้มีช่องทางในการแจ้งข้อมูลหรือแจ้งเบาะแส ทั้งจากพนักงานและบุคคลภายนอก โดยบริษัทจะให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองสิทธิของผู้ให้ข้อมูล และ/หรือพนักงานที่ปฏิเสธ และ/หรือแจ้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งด้านหน้าที่การงาน การลงโทษ หรือการดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลร้ายต่อพนักงานดังกล่าว
5.5 พนักงานและผู้บริหารของบริษัท ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม ให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณบริษัท หรือผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้
5.6 เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการดำเนินธุรกิจ บริษัทได้กำหนดนโยบายงดรับของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ และโอกาสอื่นใด ให้แก่ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท
5.7 บริษัทกำหนดให้มีการสื่อสารนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัทอย่างต่อเนื่อง อาทิ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์บริษัท และรายงานประจำปี เป็นต้น รวมถึงจัดให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้กับพนักงาน
5.8 บริษัทให้ความสำคัญในการเผยแพร่ ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท เพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกที่ดี
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกระดับต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้
1. การรับสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด
1.1 ห้ามรับ ขอรับ เรี่ยไร ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง การให้บริการ การสนับสนุนทางการเงิน เงินรางวัลใดๆ จากคู่ค้า พันธมิตร เจ้าหนี้ หรือผู้มีส่วนได้เสียที่ทำธุรกิจกับบริษัท ที่อาจทำให้เกิดอิทธิพลในการตัดสินใจ หากจำเป็นต้องรับ ของขวัญ ของกำนัล และ/หรือเลี้ยงรับรองที่ ให้รายงานแก่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น
1.2 การขอสนับสนุนในรูปเงินหรือสิ่งของ สามารถกระทำได้ในลักษณะองค์กรกับองค์กร โดยต้องได้รับการลงนามอนุมัติจากผู้มีอำนาจลงนามเท่านั้น
1.3 กรณีได้รับของขวัญ ของกำนัล เนื่องในโอกาสหรือเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่พึงปฏิบัติต่อกัน เพื่อรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างบุคคลหรือระหว่างองค์กร โดยสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดนั้น ต้องมีราคาหรือมูลค่าการรับไม่เกิน 3,000 บาท และกำหนดให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทเท่านั้น เป็นผู้แทนบริษัทในการรับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.3.1 ให้บันทึกรายการของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับทุกรายการ ตามแบบฟอร์ม “รายงานการรับของขวัญ ของกำนัล” และนำส่งรายงานดังกล่าวให้ส่วนกลาง (ทีมส่งเสริมกิจกรรมสัมพันธ์) เพื่อขึ้นทะเบียนของขวัญบริษัท
1.3.2 ของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับ ให้ดำเนินการ ดังนี้
-
กรณีเป็นของขวัญหรือของกำนัลที่มีโลโก้ของบริษัทคู่ค้า พันธมิตร เจ้าหนี้ หรือผู้มีส่วนได้เสียที่ทำธุรกิจกับบริษัท อาทิ สมุด ปากกา ไดอารี่ ปฏิทิน ไม่ต้องส่งให้ส่วนกลาง ให้แจกจ่ายภายในหน่วยงาน
-
กรณีเป็นของเน่าเสียได้ง่าย เช่น อาหาร ขนม ของสด ให้นำส่งส่วนกลาง เพื่อแจกจ่ายให้กับทุกหน่วยงานในบริษัท
-
กรณีเป็นของที่ไม่เน่าเสีย ให้นำส่งส่วนกลาง เพื่อนำไปบริจาคให้องค์กรต่างๆ หรือนำไปจัดกิจกรรมของบริษัท
1.4 เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทไม่อนุญาตให้พนักงานหรือบุคคลที่บริษัทมิได้มอบหมาย ให้เป็นผู้แทนในการรับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดโดยเด็ดขาด
1.5 กรณีที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และมีความจำเป็นต้องรับไว้ ให้รับของดังกล่าว และรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นเพื่อดำเนินการต่อสิ่งของนั้นๆ ตามความเหมาะสม
1.6 กรณีได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของบริษัทในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สามารถรับของขวัญ ของรางวัล หรือของจับฉลากได้ตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานภายนอกที่มีการใช้เป็นการทั่วไป
2. การให้สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด
2.1 การให้สิ่งของสามารถให้ได้ในโอกาสเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่คนทั่วไปพึงปฏิบัติต่อกันหรือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมที่ไม่สร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือประเพณีที่ไม่มีข้อขัดแย้งต่อกฎหมาย ให้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อนดำเนินการ โดยบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาซึ่งกำหนดราคาหรือมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท
2.2 เพื่อหลีกเลี่ยงการนำไปสู่การให้สินบน บริษัทกำหนดให้มีการสำรวจและตรวจสอบความเหมาะสมก่อนดำเนินการเพื่อป้องกันการนำไปสู่การทุจริต และกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้แทนองค์กรในการมอบสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด
2.3 การให้การสนับสนุนในรูปเงินหรือสิ่งของ สามารถกระทำได้ในลักษณะองค์กรกับองค์กร โดยต้องได้รับการลงนามอนุมัติจากผู้มีอำนาจลงนามเท่านั้น และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรอยู่ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม
3. เงินบริจาคเพื่อการกุศล หรือเงินสนับสนุน
การให้/รับเงินบริจาค เงินเรี่ยไร ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่าเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน
4. การเมือง
บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมและฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองคนหนึ่งคนใด ไม่นำเงินทุนหรือทรัพยากรของบริษัทไปใช้สนับสนุน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แก่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองใดๆ
5. ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้าง
ห้ามให้สินบนหรือรับสินบนในการดำเนินธุรกิจทุกชนิดกับคู่ค้า คู่สัญญา หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัท โดยจะต้องดำเนินการให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
6. ช่องทางในการแจ้งข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส
บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียได้มีการแสดงความเห็นและแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย เพื่อนำไปสู่ (1) ตรวจสอบข้อเท็จจริง (2) แก้ไข/ปรับปรุงด้านบริหารจัดการ และ (3) การพัฒนา/ฝึกอบรม โดยบริษัทได้กำหนดช่องทางในการรับแจ้งข้อมูล ข้อร้องเรียน หรือเบาะแส ดังนี้
-
เลขานุการบริษัท
-
สำนักตรวจสอบภายใน
-
คณะกรรมการตรวจสอบ
Email : company_secretary@pl.co.th
โทรศัพท์ : 02-290-7575 ต่อ 101, 205
โทรสาร : 02-693-2298
ที่อยู่ : บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เลขที่ 252/6 ชั้น 29 อาคารเมืองไทยภัทรคอมเพล็กซ์ 1
ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320
ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้มีกลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสที่ร่วมสอดส่องดูแลผลประโยชน์บริษัท โดยจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
7. การพิจารณาโทษ
นโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีของมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงานของบริษัท หากผู้ใดละเลย ละเว้น และเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีของบริษัท บริษัทถือว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรง และจะได้รับโทษตามข้อบังคับหรือระเบียบของบริษัทที่ได้กำหนดไว้ และ/หรือจะมีประกาศต่อไปในภายหน้า และหากความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บริษัทจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
