top of page

การบริหารความเสี่ยงในการขับขี่ (Risk management in driving)

อุบัติเหตุบนท้องถนนในบ้านเราช่วงนี้เกิดขึ้นบ่อยมากทั้งๆ ที่รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ได้ออกมารณรงค์กันอยู่ไม่ขาด แม้แต่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถยนต์อย่าง โยโยต้าที่ออกแคมเปญ “โตโยต้าถนนสีขาว” ผ่านสื่อต่างๆ ที่มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ก็ยังจะเอาไม่อยู่เข้าแล้ว อุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยจัดอยู่อันดับที่ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติดอันดับ 3 ของโลก ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยปีละนับหมื่นคน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจปีละหลายหมื่นล้านบาท ปัญหานี้ยังมองไม่เห็นทางสว่างที่ชัดเจนว่าจะแก้กันอย่างไร เอาล่ะครับเรื่องนี้มันเป็นวาระแห่งชาติเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน ผู้มีส่วนรับผิดชอบก็ต้องทำหน้าที่กันต่อไปและเราก็ให้กำลังใจกันครับ

ในฐานะเป็นโรงเรียนสอนขับรถเอกชนแห่งหนึ่งและเป็นสถาบันที่จัดฝึกอบรมหลักสูตร การขับรถอย่างปลอดภัยชั้นสูง ที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 450แห่ง เราจึงมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ด้วยความสมัครใจและด้วยความภาคภูมิใจ แน่นอนครับว่าอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาแต่ผมไม่อยากให้ท่านทั้งหลายไปคิดว่ามันเป็นเรื่องสุดวิสัย เกิดจากความผิดพลาดของผู้อื่นหรือกรรมเวรครับ อุบัติเหตุมันมีมูลเหตุและสาเหตุของมันอยู่ฉะนั้นมันย่อมมีวิธีการป้องกันครับ บทความนี้ผมจะหยิบยกเอาประเด็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบางประเด็นที่คณะวิทยากรได้อธิบายอยู่เสมอเมื่อทำการฝึกอบรม มาอธิบายขยายความและเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักและนำไปปรับใช้เพื่อให้การขับขี่ยวดยานพาหนะของท่านปลอดภัยมากขึ้น

ความเสี่ยง (Risk) หมายถึง โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย ความสูญเปล่าหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีผลกระทบหรือทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย หากเปรียบเทียบกับการขับรถความเสี่ยงก็คือสิ่งที่จะนำพาเราไปสู่อันตรายหรืออุบัติเหตุในที่สุดที่ทำให้เราไม่สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยตามที่คาดหวังไว้ เพราะฉะนั้นการที่เราจะปลอดภัยได้นั้นเราต้องสามารถรับรู้และบริหารจัดการกับความเสี่ยงนั้นให้ได้

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่จะนำไปสู่อุบัติเหตุในการขับขี่มีอยู่ด้วยกันหลายอย่างแต่ผมจะขอหยิบยกมาบางประเด็นดังนี้ครับ 1) ความเร็วของรถ (Speed) 2) เหตุที่ไม่คาดคิด (Surprise) นั้นคือเมื่อท่านไม่สามารถควบคุมหรือบริหารจัดการปัจจัยทั้งสองนี้ได้ท่านก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นทันที ผู้ขับขี่ที่ขับรถมากในแต่ละวันย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ขับขี่ที่ขับรถน้อยกว่าและความจริงคือทุกคนมีระดับความเสี่ยงไม่เท่ากันแล้วตัวท่านล่ะมีความเสี่ยงระดับไหน

เอาละครับลองมาดูความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ปัจจัยดังนี้ครับ ความเสี่ยง (Risk) = ความเร็ว (Speed) x เหตุที่ไม่คาดคิด (Surprise) จากความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเห็นว่าความเร็วและเหตุที่ไม่คาดคิด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงยิ่งถ้าปัจจัยทั้งสองเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงและเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดความเสี่ยงก็จะสูงขึ้นทันที เพราะฉะนั้นหากท่านสามารถลดตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวลงได้ความเสี่ยงของท่านก็จะลดลงเช่นกัน แต่การลดความเร็วสำหรับนักขับขี่บ้านเราเห็นจะเป็นเรื่องยากครับแต่อย่างน้อยก็ขอให้ท่านลดปัจจัยที่สองคือเหตุที่ไม่คาดคิด(Surprise) ครับ แล้วปัจจัยนี้จะทำอย่างไรถึงจะลดได้ซึ่งคงไม่ง่ายเหมือนกับลดความเร็วที่เพียงแค่ถอนคันเร่งครับ การบริหารปัจจัยที่ 2 นี้สามารถทำได้ตามหลักการขับรถอย่างปลอดภัยชั้นสูงคือ 1) สังเกตุการณ์โดยกวาดสายตามองให้สม่ำเสมอ 2) แยกแยะสิ่งที่จะเป็นอันตรายหรือ Hazard 3) คาดการณ์จากสิ่งที่เห็นและแยกแยะแล้ว 4) ทำการตัดสินใจล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 วินาทีก่อนเหตุการณ์ 5) ลงมือปฏิบัติเมื่อทำการตัดสินใจแล้วให้ทันเวลา โดยสรุปก็คือว่าให้เราหาให้ได้ว่าความเสี่ยงอยู่ที่ไหน ความเสี่ยงคืออะไรเพื่อที่เราจะหาทางบริหารจัดการกับความเสี่ยงนั้นๆ ได้อย่างถูกวิธีและทันเวลานั่นก็หมายถึงความปลอดภัยที่ตามมา แต่อย่าลืมนะครับว่ากระบวนการทั้ง 5 นี้ต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทรงประสิทธิภาพครับเป็นทักษะแบบ fast thinking ซึ่งถ้ามัวแต่ขบคิดพิจารณากับสิ่งที่เห็นนานๆ แล้วก็จะเป็นอันตรายครับเพราะในการขับรถเวลามีค่ามหาศาลซึ่งเราจะพลาดไม่ได้แม้เพียงวินาทีเดียว ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่เราจะนำมาควบคุมความเสี่ยงในการขับรถของเราได้คือ ระยะห่าง (Space) ฉะนั้นผมจะขอสรุปการบริหารจัดการความเสี่ยงในมิติของปัจจัยทั้ง 3 ดังนี้ครับ

ความเสี่ยง (Risk) = ความเร็ว (Speed)xเหตุที่ไม่คาดคิด (Surprise)

ระยะห่าง (Space)

เพราะฉะนั้นความเสี่ยงของท่านก็สามารถบริหารได้แล้วเพียงแค่ลดความเร็ว ใช้หลักการในการขับรถอย่างปลอดภัยชั้นสูง 5 ขั้นตอนและเพิ่มตัวหารหรือระยะห่าง เพียงแค่นี้ท่านก็ลดความเสี่ยงได้แล้วครับ

ขอให้ทุกท่านปลอดภัยและลดความเสี่ยงกันให้ได้นะครับ

ที่มา : วิเชียร ศรีวงษา Safe Driver Education

เอกสารอ้างอิง: ไทยรัฐออนไลน์ 27 กรกฎาคม 2556

bottom of page